BEAM SENSOR

BEAM SENSOR จากชื่อคงพอจะเดาถึงหลักการทำงานของของอุปกรณ์ได้ว่า ทำงานอย่างไร BEAM คือการยิงลำแสงออกจากอุปกรณ์เพื่อไปสะท้อนกับอีกอุปกรณ์หนึ่ง หรือ ตัวรับของอุปกรณ์ ตามแต่รูปแบบอุปกรณ์ที่เลือกใช้ โดยเรียกได้ว่าเป็นอุปกรณ์ตรวจจับด้วยแสงนั้นเอง แสงที่ใช้มีทั้งแสงที่มองเห็นได้ และแสงที่มองไม่เห็น โดยใช้หลักการบังของวัตถุทำให้การส่งของแสงไปไม่ถึงปลายทาง หรือ ไม่สะท้อนกลับต้นทาง

เซ็นเซอร์แสงแบ่งเป็นกี่แบบ?

แบ่งหลักๆตามแหล่งกำเนิดแสงเป็น 2 รูปแบบที่นิยม คือ

  1. แบบแสงอินฟาเรด
  2. แบบแสงเลเซอร์

แบ่งตามการใช้งาน ได้เป็น 3 รูปแบบ คือ

  1. แบบมีตัวรับและตัวส่ง
  2. แบบมีตัวส่งและกระจกสะท้อน
  3. แบบมีตัวส่งตัวเดียวไม่มีตัวรับ และตัวสะท้อน

หลักการทำงานของอุปกรณ์ เซ็นเซอร์แสง

องค์ประกอบที่จำเป็นในการใช้เซ็นเซอร์แสง

  • Emitter หรือ Transmitter (ตัวส่งสัญญาณ) : จะประกอบด้วย ตัวกำเนิดแสง,หลอด LED และตัวสร้างสัญญาณมอดูเลสที่อัตราเร็วสูง ส่งเป็นแสงไปยังตัวรับสัญญาณ โดยอาจจะเปลี่ยนตัวกำเนิดแสงไปตามชนิดของอุปกรณ์
  • Receiver (ตัวรับสัญญาณ) : ประกอบด้วย ตัวรับแสงเพื่อแปลงสัญญาณ และส่วนของสวิตซ์ ทำหน้าที่เป็น Output
  • Range (ช่วงสัญญาณ) : ตัวกำหนดระยะการทำงานของเซ็นเซอร์ โดยเป็นช่วงความถี่ที่คลื่นส่งไป เพื่อให้ตัวรับ
  • Opposed mode คือ ระยะจากตัวส่งถึงตัวรับสัญญาณ  หรือระยะการส่งสัญญาณ ซึ่งต่างกันตามเสปคของอุปกรณ์ ตามแต่ละชนิดของอุปกรณ์ต้นกำเนิดแสง และสภาพหน้างาน ด้วยข้อจำกัดอื่นๆ
  • Retro reflective mode คือ ระยะจากเซ็นเซอร์ถึงแผ่นสะท้อน เป็นการเปลี่ยนจากอุปกรณ์รับเป็นการใช้แผ่น หรือกระจกสะท้อนแสงกลับมาที่ตัวส่ง โดยรูปแบบนี้ ตัวส่งจำเป็นต้องเป็นรุ่นที่มีการรับค่าได้ (ไม่สามารถนำตัวส่ง รุ่นที่มีตัวรับมาทำเป็นแบบสะท้อนได้)
  • Proximity mode คือ ระยะจากเซ็นเซอร์ถึงวัตถุที่ต้องการตรวจจับ เป็นการตรวจจับกับวัตถุโดยตรง ไม่มีการสะท้อนจากสิ่งอื่นๆ ยกตัวอย่าง บริเวณช่องฟัง เหนือกระจกหน้าจอของสมาร์ทโฟน จะมีเซ็นเซอร์ประเภทนี้อยู่ ทำให้เมื่อมีการทาบกระจกกับหู เพื่อคุยโทรศัพท์ หรือคว่ำจอกับโต๊ะ จะทำให้จอดับ ไม่สามารถกดปุ่มใดๆ ได้นั้นเอง ในส่วนนี้ก็เป็นเซ็นเซอร์แบบ พรอกซิมิตี้เช่นกัน และยังมีพรอกซิมิตี้แบบรับค่าด้วยการตรวจจับวัตถุได้อีกด้วย

ความไวในการตรวจจับของ BEAM Sensor

ในการนำไปใช้จริง ย่อมมีความเร็วที่แตกต่างกันระหว่างคนกับพาหนะต่างๆ ตัวเซ็นเซอร์แสงเองจึงสามารถปรับแต่งได้เพื่อความเหมาะสม หลายระดับตามต้องการที่เกิดขึ้น โดยเลือกปรับความเร็วในการตรวจจับ ของเซ็นเซอร์แสงได้ตั้งแต่ 50ms. ถึง 700ms. โดยปรับให้เหมาะสมกับการใช้งานในสถานที่นั้นๆ
 50 ms. : เทียบเท่าการวิ่งเร็ว / รถที่ผ่านยางชะลอความเร็วเพื่อลอดใต้ไม้
 100 ms. : เทียบเท่าการวิ่งเหยาะ / รถที่มีการเบรกก่อนถึงไม้กั้นรถอัตโนมัติ
 200 ms. : เทียบเท่าการเดินเร็ว
 350 ms. : เทียบเท่าการเดินแบบปกติ
 500 ms. : เทียบเท่าการเคลื่อนที่ช้าๆ หรือปีนป่าย

“Beamsensor เพื่อป้องกันการโจรกรรม”

การประยุกต์ใช้ BEAM SENSOR

เราสามารถนำหลักการของเซ็นเซอร์แสงไปใช้งานได้อย่างหลากหลาย โดยเฉพาะกับการป้องกันทรัพย์สิน ในรูปแบบต่างๆ ดังนี้

การนำไปใช้กับประตูอัตโนมัติ
โดยเฉพาะประตูเลื่อน แบบต่างๆ เพื่อป้องกันการหนีบของประตู ด้วยหลักการ การทำงานของอุปกรณ์ที่มีการยิงลำแสง หากมีคนผ่าน หรือสัตว์เลี้ยงผ่าน ประตูจะทำการเปิดออก เนื่องจากการทำงานที่ไม่ครบตามการรับส่ง ในจุดนี้เองที่นำมาใช้ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุในการใช้งานประตูอัตโนมัติ ควบคู่กับเซ็นเซอร์ Motion Sensor

การนำไปใช้กับงานลานจอดรถ หรือ ไม้กั้นรถอัตโนมัติ

สำหรับการติดตั้งไม้กั้นรถอัตโนมัติ ตามลานจอดรถนั้น โดยปกติจะมีการใช้ Loop Sensor ร่วมกับการใช้ เซ็นเซอร์แสงเพื่อเพิ่มความมั่นใจ และลดอุบัติเหตุ ที่อาจจะเกิดขึ้นกับรถที่ผ่านเข้าออกไม้กั้นอยู่เสมอ เนื่องจากการกรีดลูป ฝังพื้นนั้นการทำงานเป็นเพียงในกรอบที่กรีดในจังหวะที่รถผ่านไม้นั้น อาจจะทำให้เกิดการตกของไม้ได้ จึงจำเป็นต้องมีการติดเซ็นเซอร์แสงบริเวณใต้ไม้ โดยเลือกได้ทั้งแบบ กระจกสะท้อน อุปกรณ์สะท้อน หรือ เลเซอร์ แล้วแต่ข้อจำกัดของแต่ละหน้า แต่ไม่แนะนำแบบไม่มีตัวรับสะท้อน เนื่องจากสภาพหน้างานอาจจะทำให้เกิดความผิดพลาดที่ครอบคุมไม่ได้นั้นเอง

การนำไปใช้ป้องกันบ้าน

หลักการเดียวกับตัวอย่างอื่นๆ แต่เปลี่ยนเป็นการส่งสัญญาณไปที่โทรศัพท์ เพื่อแจ้งเจ้าของบ้าน หรืออาจต่อ Buzzer เพื่อให้มีเสียงเตือนในเวลาที่มีผู้เข้าออกบ้าน โดยอาจจะป้องกันการดังจากสิ่งอื่นๆ นอกจากผู้ไม่พึงประสงค์ ด้วยตำแหน่งที่ติดตั้ง เซ็นเซอร์ เช่น ติดตั้ง 3 จุด ในแนวตั้งความสูงเท่ากับคนทั่วไป หากมีการผ่านของคน เซ็นเซอร์จะถูกขวางทั้ง 3 เส้น แต่ถ้าเป็นสัตว์เลี้ยงอาจจะผ่านเพียงเส้นเดียว เป็นต้น